ศาสดาและประวัติ

นบีมุฮัมมัดเกิดที่มหานครมักกะหฺ (เมกกะ) ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในปีช้าง ตรงกับ ค.ศ. 570 ในตอนแรกเกิดวรกายของมุฮัมมัด มีรัศมีสว่างไสวและมีกลิ่นหอม เป็นศุภนิมิตบ่งถึงความพิเศษของทารก

ปีที่ท่านเกิดนั้นเป็นปีที่อุปราชอับรอหะหฺแห่งอบิสสิเนีย (เอธิโอเปียปัจจุบัน) กรีฑาทัพช้างเข้าโจมตีมหานครมักกะหฺ เพื่อทำลายกะอฺบะหฺอันศักดิ์สิทธิ์ แต่อัลลอฮ์ได้ทรงพิทักษ์มักกะหฺ ด้วยการส่งกองทัพนกที่คาบกรวดหินลงมาทิ้งลงบนกองทัพนี้ จนไพร่พลต้องล้มตายระเนระนาด เนื้อตัวทะลุเหมือนใบไม้ถูกหนอนกัดกิน อุปราชอับรอหะหฺจึงต้องถอยทัพกลับไป และเสียชีวิตในที่สุด

ในปีเดียวกัน มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเปอร์เซีย เป็นเหตุให้ราชวังอะนูชิรวานของจักรพรรดิ์ เปอร์เซียสั่นสะเทือนจนถึงรากเหง้าและพังทลายลง ยังผลให้ไฟศักดิ์สิทธิ์ในวิหารบูชาไฟของพวกโซโรอัสเตอร์ที่ลุกอยู่เป็นพันปีนั้นต้องดับลงไปด้วย

บิดาของมุฮัมมัดคือ อับดุลลอหฺ เป็นบุตรสุดท้องของอับดุลมุฏฏอลิบ แห่งเผ่ากุเรช ผู้ได้รับเกิยรติให้คุ้มครองบ่อน้ำ ซัมซัม ริมกะอฺบะหฺ อับดุลลอหฺได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่มุฮัมมัด (ศ) ยังอยู่ในครรภ์ของอะมีนะหฺ สตรีแห่งเผ่าซุหฺเราะหฺ ผู้เป็นมารดา อับดุลมุฏฏอลิบผู้เป็นปู่ได้ขนานนามว่า มุฮัมมัด เป็นนามที่ยังไม่มีผู้ใดใช้มาก่อน

เมื่อเกิดได้เพียงไม่นาน ท่านต้องไปอาศัยกับแม่นมรับจ้างชื่อว่า ฮะลีมะหฺ แห่งเผ่าซะอัด ซึ่งมีสามีชื่อว่า อะบูกับชะหฺ ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกมหานคร ทั้งนี้เพราะประเพณีดั้งเดิมของชาวอาหรับ เมื่อต้องการให้บุตรของตนเติบโตขึ้นในชนบท เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวอาหรับพื้นเมืองที่แท้จริง

มุฮัมมัดสูญเสียมารดาเมื่ออายุ 6 ขวบ จึงอยู่ในความอุปการะของปู่ ต่อมาอีกสองปี ปู่สิ้นชีวิต มุฮัมมัดจึงอยู่ในความดูแลของ อะบูฏอลิบ ผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นผู้มีเกิยรติคนหนึ่งในเผ่ากุเรชเช่นกัน

มุฮัมมัดไม่รู้หนังสือเหมือนกับชาวอาหรับทั่วไป ท่านอ่านและเขียนหนังสือไม่เป็นตลอดชีวิต นักประวัติศาสตร์รายงานว่าในสมัยนั้นมีคนที่อ่านออกเขียนได้ในมักกะหฺไม่กี่คนเท่านั้น ชาวอาหรับในสมัยนั้นถูกขนานนามว่า อุมมียูน คือชนผู้อ่านเขียนไม่เป็น

ในวัยหนุ่ม มุฮัมมัดได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ มีใจเมตตาการุณและจริงใจ จนผู้คนในสมัยนั้นให้สมญานามท่านว่า “อัลอะมีน” หรือผู้ซื่อสัตย์ แม้ผู้คนในสมัยนั้นเคารพบูชาเจว็ดและเทวรูปต่างๆ แต่มุฮัมมัดไม่เคยเข้าร่วมพิธีการบูชารูปปั้นทั้งหลายเลย เพราะครอบครัวของมุฮัมมัดนับถือศาสนาแห่งศาสดาอิบรอฮีม (อับราฮาม) อันเป็นบรรพบุรุษของท่าน

เมื่อมูฮัมมัดมีอายุได้ 20 ปี กิตติศัพท์แห่งคุณธรรม และความสามารถในการค้าขายก็เข้าถึงหูของ คอดีญะหฺ เศรษฐีนีหม้ายผู้มีเกียรติจากตระกูลอะซัดแห่งเผ่ากุเรช นางจึงเชิญให้ท่านเป็นผู้จัดการในการค้าของนาง โดยให้ท่านนำสินค้าไปขายยังประเทศซีเรียในฐานะหัวหน้ากองคาราวาน ปรากฏผลว่าการค้าดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และได้กำไรเกินความคาดหมาย จึงทำให้นางพอใจในความสามารถ และความซื่อสัตย์ของท่านเป็นอย่างมาก

เมื่ออายุ 25 ปี ท่านแต่งงานกับนาง คอดีญะหฺผู้มีอายุแก่กว่าถึง 15 ปี สิ่งแรกที่ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กระทำภายหลังสมรสได้ไม่กี่วันก็คือการปลดปล่อยทาสในบ้านให้เป็นอิสระ ซึ่งน้อยนักจะมีผู้ทำเช่นนั้น (ภายหลังการปลดทาสได้กลายเป็นบทบัญญัติอิสลาม) ทั้งสองได้ใช้ชีวิตครองคู่กันเป็นเวลา 25 ปีมีบุตรีด้วยกัน 4 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือท่านหญิงฟาฏิมะหฺ ท่านหญิงคอดีญะหฺเสียชีวิตปี ค.ศ. 619 ก่อนมุฮัมมัดจะลี้ภัยไปยังเมืองยัษริบ 3 ปี

เมื่ออายุ 30 ปี ท่านได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหพันธ์ฟุดูล อันเป็นองค์การพิทักษ์สาธารณภัยประชาชน เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน กิจการประจำวันของท่าน ก็คือ ประกอบแต่กุศลกรรม ปลดทุกข์ขจัดความเดือดร้อน ช่วยเหลือผู้ตกยาก บำรุงสาธารณกุศล

เมื่ออายุ 35 ปี ได้เกิดมีกรณีขัดแย้งในการบูรณะกะอฺบะหฺ ในเรื่องที่ว่าผู้ใดกันที่จะเป็นนำเอา อัลฮะญัร อัลอัสวัด (หินดำ) ไปประดิษฐานไว้สถานที่เดิมคือที่มุมของกะอฺบะหฺ อันเป็นเหตุให้คนทั้งเมืองเกือบจะรบราฆ่าฟันกันเองเพราะแย่งหน้าที่อันมีเกียรติ หลังจากการถกเถียงในที่ประชุมเป็นเวลานาน บรรดาหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ ก็มีมติว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นคนแรกที่เข้ามาใน อัลมัสญิด อัลฮะรอม ทางประตูบะนีชัยบะหฺในวันนั้นจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะทำอย่างไร ปรากฏว่า มุฮัมมัด เป็นคนเดินเข้าไปเป็นคนแรก ท่านจึงมีอำนาจในการชี้ขาด โดยท่านเอาผ้าผืนหนึ่งปูลง แล้วท่านก็วางหินดำลงบนผืนผ้านั้น จากนั้นก็ให้หัวหน้าตระกูลต่าง ๆ จับชายผ้ากันทุกคน แล้วยกขึ้นพร้อม ๆ กัน เอาไปใกล้ ๆ สถานที่ตั้งของหินดำนั้น แล้วท่านก็เป็นผู้นำเอาหินดำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม

ชาวอาหรับในอาราเบียสมัยนั้นเชื่อว่า อัลลอหฺเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาลตามคำสอนดั้งเดิมของบรรพบุรุษอาหรับคือ อิสมาอีล และ อิบรอฮีม ผู้ก่อตั้งกะอฺบะหฺ แต่ในขณะเดียวกลับบูชาเทวรูปและผีสางอีกด้วย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกเรียกว่า ชาวมุชริก นอกจากนี้ยังมีอาหรับส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์ และในยัษริบก็มีชาวยิวหลายตระกูลอาศัยอยู่อีกด้วย

มุฮัมมัดได้เป็นเราะซูล

เมื่ออายุ 40 ปี ท่านได้รับ วะฮฺยู (การวิวรณ์) จากอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้า ใน ถ้ำฮิรออ์ ซึ่งอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งนอกเมืองมักกะหฺ โดยทูตสวรรค์ญิบรีลเป็นผู้นำมาบอกเป็นครั้งแรก เรียกร้องให้ท่านรับหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาของอัลลอหฺ ตามที่ศาสดามูซา (โมเสส) และอีซา (เยซู) เคยทำมา นั่นคือประกาศให้มวลมนุษย์นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ท่านได้รับพระโองการติดต่อกันเป็นเวลา 23 ปี พระโองการเหล่านี้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มเรียกว่าคัมภีร์อัลกุรอาน

ในตอนแรกท่านเผยแพร่ศาสนาแก่วงศาคณาญาติและเพื่อนใกล้ชิดเป็นการภายในก่อน ท่านค็อดีญะหฺเองได้สละทรัพย์สินเงินทองของท่านไปมากมาย และท่านอะบูฏอลิบก็ได้ปกป้องหลานชายของตนด้วยชีวิต ต่อมาท่านได้รับโองการจากพระเจ้าให้ประกาศเผยแพร่ศาสนาโดยเปิดเผย ทำให้ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ชาวกุเรชและอาหรับเผ่าอื่น ๆ ที่เคยนับถือท่าน พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูกับท่านอย่างรุนแรง ถึงกับวางแผนสังหารท่านหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ

ชนมุสลิมถูกคว่ำบาตรไม่สามารถทำธุรกิจกับผู้ใด จนต้องอดอยากเพราะขาดรายได้และไม่มีที่จะซื้ออาหาร อะบูสุฟยาน แห่งตระกูลอุมัยยะหฺ และ อะบูญะฮัล คือสองในจำนวนหัวหน้าชาวมุชริกที่ได้พยายามทำลายล้างศาสนาอิสลาม

ในปีที่ 5 หลังสาส์นอิสลาม สาวกกลุ่มหนึ่งต้องหนีออกจากมักกะหฺเข้าลี้ภัยในอบิสสิเนีย กษัตริย์นัญญาชี (เนเกช) แห่งอบิสสิเนียที่นับถือคริสต์ศาสนาก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ภายหลังท่านเองก็เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

ปีที่ 10 หลังสาส์นอิสลาม ถือว่าเป็นปีแห่งความโศกเศร้า เนื่องจาก นางคอดีญะหฺ ผู้เป็นภรรยาและ อะบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงที่ได้ให้การอุปการะ ได้สิ้นชีวิต

ปีเดียวกันศาสนทูตท่านศาสดาเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองฎออิฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองมักกะหฺ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ

ในวันจันทร์ที่ 27 เดือนรอญับ ปีที่ 10 หลังสาส์นอิสลาม ศาสดามุฮัมมัดเดินทางในเวลากลางคืน โดยขี่บุรอกจากมัสญิด อัลฮะรอมในมักกะหฺ สู่ มัสญิดอัลอักศอ ในปาเลสไตน์ (อิสรออ์) ขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอฺรอจญ์) ในคืนนั้นอัลลอหฺทรงกำหนดการละหมาดฟัรดู 5 เวลาแก่ประชาชาติอิสลาม

ปีที่ 11 ชาวมะดีนะหฺ 6 คน เข้าพบท่านศาสดาเพื่อขอรับอิสลาม ต่อมาในปีที่ 12 ชาวมะดีนะหฺ 12 คน เข้าพบท่านศาสดาเพื่อทำสัญญาอัลอะกอบะหฺครั้งที่ 1 โดยให้สัตยาบันว่าจะเคารพภักดีอัลลอหฺเพียงองค์เดียว และในปีที่ 13 มีชาวมะดีนะหฺ 75 คน เข้าพบท่านศาสดาเพื่อทำสัญญา อัลอะกอบะหฺ ครั้งที่ 2 โดยให้สัตยาบันว่าพวกเขาจะสนับสนุนและช่วยเหลือท่าน ศาสดาพร้อมทั้งบรรดาศอฮาบะหฺที่อพยพไปอยู่ที่มะดีนะหฺ

อพยพจากมักกะหฺสู่มะดีนะหฺ

ท่านศาสดาอพยพจากมักกะหฺโดยมีอะบูบักรฺร่วมเดินทางไกลด้วย ระหว่างทางท่านได้สร้างมัสญิดกุบาอ์ ซึ่งเป็นมัสญิดหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้น ท่านศาสดาเข้าเมืองมะดีนะหฺในวันศุกร์

ท่านได้ทำการละหมาดวันศุกร์ร่วมกับพี่น้องมุสลิมที่นั่น ซึ่งถือว่าเป็นการละหมาดวันศุกร์ครั้งแรกของอิสลาม เมื่อถึงเมืองมะดีนะหฺ ท่านศาสดาได้สร้างความรัก ความเป็นพี่น้องร่วมศรัทธาระหว่างชาวมุฮาญิรีน ผู้อพยพ กับชาวอันศอร ผู้ช่วยเหลือการอพยพของท่านศาสดามีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์อิสลาม

มุสลิมจึงถือเอาการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นจุดเริ่มของศักราชอิสลาม ซึ่งเรียกว่า ฮิจญเราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) ปีแห่งการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัด

 

Muhammad

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94

ใส่ความเห็น