ไทยกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC (พ.ศ. 2560-2561 / ค.ศ. 2017-2018)

 ไทยกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC (พ.ศ. 2560-2561 / ค.ศ. 2017-2018)
-ภูมิหลัง
– ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2489 (ค.ศ. 1946) และเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC ครั้งเดียวในช่วงวาระปี 2528-2529 (ค.ศ. 1985-1986)
– คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้แจ้งการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC ในวาระปี 2560-2561 (ค.ศ. 2017-2018) ผ่านคณะกรรมการอาเซียน ณ นครนิวยอร์ก (ASEAN New York Committee) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 (ค.ศ. 2007) และแจ้งต่อกลุ่มเอเชีย ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 (ค.ศ. 2007) รวมทั้งได้แจ้งการสมัครรับเลือกตั้งของไทยในวาระปี 2560-2561 (ค.ศ. 2017-2018) ต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 (ค.ศ. 2008) ทั้งนี้ การเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงการประชุมสมัยสามัญของสมัชชาสหประชาชาติปี 2559 (ค.ศ. 2016)
– คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการสมัครของไทยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (ค.ศ. 2009) โดยขณะนี้ไทยได้เริ่มแลกเสียงและขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ แล้ว
– นโยบายรัฐบาล
– การสมัครดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในด้านการปกป้องรักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงรวมทั้งในกรอบสหประชาชาติ
– ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
– ส่งเสริมและยกระดับภาพลักษณ์ วิสัยทัศน์ และความก้าวหน้าเชิงการทูตและการเมืองระหว่างประเทศของไทยในเวทีพหุภาคี เนื่องจาก UNSC เป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศของสหประชาชาติ รวมทั้งอาจช่วยยกระดับไทยให้เป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญขนาดกลางในเวทีระหว่างประเทศ
– เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะมีผลให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมและบทบาทในการกำหนดท่าทีต่อประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของ UNSC ตั้งแต่ต้น อันรวมถึงประเด็นที่ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ที่ผ่านมา อาทิ ด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงของมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลดีต่อการเตรียมตัว เตรียมท่าที หรือแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที
– เป็นโอกาสในการผลักดันวาระที่จะเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยในช่วงนั้น หรือปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของไทยในประเด็นที่มีผลกระทบหรือเกี่ยวโยงกับไทยโดยตรงอย่างใกล้ชิด หากไทยมีวาระที่ต้องการใช้กลไกพหุภาคีเป็นเวทีที่จะรักษาผลประโยชน์
– เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของไทยในด้านการทูตพหุภาคี
–  แนวทางดำเนินงานของไทย
– ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไทยได้พยายามยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศให้เด่นชัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการหาเสียงรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกไม่ถาวรของ UNSC เช่น การเป็นสมาชิกในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในกรอบสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (Peacebuilding Commission – PBC) ในวาระปี 2552-2553 (ค.ศ. 2009-2010) และการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ในวาระปี 2553-2556 (ค.ศ. 2010-2013) การเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศรวมทั้งในกรอบภูมิภาคด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ สันติภาพ การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ และประเด็นด้านการพัฒนา
– ไทยได้กำหนดประเด็นหลัก (theme) ในเรื่อง “สันติภาพที่ยั่งยืนต้องมาจากการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อใช้เป็นแนวทางการรณรงค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยชี้ให้เห็นว่า หากไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ไทยในฐานะประเทศสายกลางสามารถเป็นตัวกลาง (bridge builder) เชื่อมโยงระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยอาจเน้นประเด็นเรื่องการหารือและร่วมมือที่สร้างสรรค์ในการพิจารณาส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์แบบครอบคลุมทุกด้าน

 

http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9905-%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4.html

ใส่ความเห็น